มีนาคม 2555 ยางพาราอายุ 8 เดือน

ในที่สุดก็ผ่านเข้ามาสู่หน้าแล้งจริงๆ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม พื้นที่บริเวณนี้ถือว่าร้อนและแห้งแล้งเอาการทีเดียว โชคดีที่มีระบบน้ำไว้รองรับอยู่บ้าง แม้อย่างนั้นก็มีต้นยางพาราบางต้นก็ทนร้อนทนแล้งไม่ไหวแห้งตายไปหลายต้นเหมือนกัน ประมาณ 2% เห็นจะได้ (ยางทั้งหมดพันกว่าต้นแห้งตายประมาณ 20 กว่าต้น) แต่ก็ถือว่าเปอร์เซ็นรอดสูงมาก และต้นยางพาราสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีในพื้นที่บริเวณนี้


ปักไม้ค้ำยันและมัดพยุงลำต้น เพราะหน้าแล้งแถวนี้ลมแรงมากทีเดียว


ในที่สุดก็สูงท่วมหัวจริงๆซะที [^_^]

ยางพาราอายุ 6 เดือน

ขนาดต้นยางสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงห้าหกเดือน อาจเป็นเพราะรากได้แตกกระจายหาอาหารได้ดีขึ้น และได้รับปุ๋ยเม็ดและปุ๋ยมูลสัตว์(ขี้วัว) ไปช่วยแตกยอดฉัตรใหม่



จากการสังเกตุพบว่าต้นยางจะแตกยอดเสมอหากได้รับน้ำแม้ในช่วงหน้าแล้งที่ไม่มีฝนตก แต่ถ้าเราให้น้ำอยู่ตลอดต้นยางพาราของเราก็ยังคงไม่หยุดแตกยอดฉัตรต่อไปเรื่อยๆ


ยางพาราอายุ 5 เดือน

หลังจาก 5 เดือนผ่านไปต้นยางพาราหลายต้นเริ่มสูงท่วมหัวแล้ว


เดือนธันวาคม 2554 ตอนนี้อากาศค่อนข้างหนาวเย็น และเริ่มมองเห็นความแห้งแล้งกำลังเริ่มต้น
หลังจากได้เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายบ่าของ HONDA 4 จังหวะมาแล้วก็จัดแจงตัดแต่งหญ้าทั่วทั้งสวนยาง โดยเฉพาะบริเวณรอบๆรั้ว เพื่อป้องกันไฟใหม้ลามเข้ามาในสวนยางพาราของเรา และใช้ฟางข้าวคลุมรอบลำต้นเพื่อรักษาความชื้น

วางระบบน้ำหยดในสวนยางพารา

เชียงใหม่เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการปลูกลำไยกันมาก และระบบการให้น้ำสวนลำใยของที่นี่มักจะเป็นการวางท่อ PVC เดินไปตามช่องว่างระหว่างแถวแล้วทำท่อแยกออกมาใส่ต้นลำใยเป็นต้นๆไป ซึ่งท่อพีวีซีมีราคาสูงมาก หากเทียบกับท่อพีอี และแถวยางพาราช่วงห่างระหว่างต้นจะถี่กว่าต้นลำใย จึงมีจำนวนต้นที่มากกว่าในพื้นที่ขนาดเท่ากัน ดังนั้นหากจะวางท่อพีวีซีทั้งสวนคงสิ้นเปลืองมากแน่นอน ระบบน้ำหยดจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ประหยัดกว่า ทั้งประหยัดน้ำและประหยัดเงิน



เริ่มต้นวางท่อเมนพีวีซี 2 นิ้วไปตรงกลางสวนแล้วใส่ข้อต่อสามทาง 2 นิ้วทดหกหุน เพื่อต่อกับข้อต่อท่อพีอีสำหรับน้ำหยด



ลากสายน้ำหยดไปตามแถวยางทุกแถว เสียบปลายด้านหนึ่งกับข้อต่อที่ต่อกับท่อพีวีซี และมัดปลายสุดท้ายอีกด้านหนึ่งด้วยลวดกันสนิมและมัดปลายติดกับหลักไว้ จากนั้นจึงใช้ที่เจาะท่อพีอี เจาะสายน้ำหยดเพื่อใส่หัวน้ำหยดทุกต้น




ท่อพีอีที่ใช้ครึ่งหนึ่งเป็นแถบสีส้ม อีกครึ่งสีเขียวราคาเท่ากันเลยไม่รู้ว่าอันใหนทนกว่า ปีนี้ของขาดเยอะมากเพราะตอนใส่น้ำหยดทางภาคกลางและกรุงเทพน้ำท่วมใหญ่พอดี ไม่มีของส่งมาทางเหนือ (ราคาขึ้นทุกอย่างอีกตะหาก)


พร้อมรบกับฤดูแล้งแล้วครับ อิ_อิ

เตรียมรับมือหน้าแล้ง ทำแทงก์เก็บน้ำใส่สวนยาง

อีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าหน้าหนาว และก็เข้าสู่หน้าแล้งในที่สุด
เนื่องจากเจอโรครอ โรคเลื่อนมาจนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งถือว่าปลูกยางพาราค่อนข้างช้า เกือบหมดหน้าฝนกันเลยทีเดียว และเนื่องจากบริเวณแถวนี้เป็นเขตอับฝน เป็นเขตแห้งแล้งของจังหวัดเชียงใหม่เลยก็ว่าได้ ดังนั้นเพื่อไม่เป็นการประมาทจนเกินไปจึงได้จ้างช่างมาทำแทงก์เก็บน้ำบาดาลที่สูบขึ้นมาเก็บไว้สำหรับใส่ให้กับต้นยางพาราในสวนของเราในหน้าแล้ง



เริ่มทำฐานราก ที่แถวนี้เป็นดินทรายจึงต้องทำฐานรากให้หนาแน่นและลึกสักหน่อย เพื่อให้รับน้ำหนึกของน้ำจำนวนมาก ไม่ให้ล้มพังลงมา


ใช้ท่อกลมสำเร็จรูปจำนวน 10 ท่อนก่อเป็นแทงก์น้ำ


เสร็จแล้ววางท่อน้ำต่างๆให้เรียบร้อย และปั๊มน้ำขึ้นจนเต็ม
ปรากฏว่าน้ำรั่วออกมาตามรอยต่อของท่อเป็นจำนวนมาก ไหลเหมือนน้ำตกขนาดย่อมๆ เลยทีเดียว
แต่ช่างบอกว่าเป็นธรรมดา ต้องใส่น้ำแช่ไว้สักสองสามอาทิตย์ แล้วขี้ปูนจะเข้าไปอุดรอยรั่วเอง
ผ่านไปสองอาทิตย์รอยรั่วบางรอยหายไปบ้าง แต่จนแล้วจนรอดผ่านไปเกือบเดือนน้ำก็ยังคงรั่วออกมาในบางข้ออยู่ดี ช่างจึงทำการอุดรอยรั่วอีกครั้งด้วยอะไรก็ไม่รู้เป็นกาวสีขาวๆ คิดว่าน่าเป็นซิลิโคนรึเปล่า
รอยรั่วต่างๆเริ่มมีตะกอนสีขาวๆซึมออกมาซึ่งช่างบอกว่ามันจะช่วยอุดรอยรั่วนั่นเอง

"วัว" อีกหนึ่งศัตรูตัวร้ายของสวนยางพารา

หลังจากฝนตกลงมาหลายห่า ต้นยางพาราที่ได้ลงมือปลูกไว้ก็พากันแตกยอดแตกฉัตรใหม่กันอย่างถ้วนหน้า เป็นสัญญาณบ่งบอกได้ดีว่าต้นยางของเราปลูกติดเป็นที่แน่นอนแล้ว :-)



แต่เหมือนสวรรค์กั่นแกล้ง ผ่านไปไม่กี่อาทิตย์ ยอดอ่อนของต้นยางพาราหลายต้นกลับกุดด้วนเหมือนโดนตัวอะไรกัดแทะเล็ม แน่นอนที่สุด จากรอยเท้าที่ฝากทิ้งไว้บนพื้นดินบริเวณใกล้ๆ กับต้นยางที่ถูกเล็มยอด เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก "วัว" นี่เอง



ไม่รู้ว่าวัวของใครแอบเข้ามากัดกินยอดอ่อนของต้นยางพาราในสวนยางไปหลายต้นเลยทีเดียว บางต้นถึงกับขาดด้วนไปทั้งยอดหมดหนทางเยียวยา บางต้นพอเหลือตอไว้ให้ลุ้นว่าจะแตกยอดออกมาอีกหรือเปล่า แต่ส่วนใหญ่ไม่น่าจะรอดแล้วทั้งนั้น



"วัวหายล้อมคอก" จะว่างั้นก็คงได้ เพราะคิดไม่ถึงจริงๆ ว่าจะมีตัวอะไรที่กินยอดของต้นยางพาราได้จึงไม่ได้คิดเตรียมการป้องกัน จนในที่สุดก็ต้องกันไว้ดีกว่า ถ้าไม่อย่างนั้นอาจจะต้องเสียต้นยางไปทั้งสวนก็เป็นได้



เห้อ ! ตังค์อีกแล้ว....
ในที่สุดก็จ้างคนมาล้อมรั้วลวดหนามรอบสวนหมดไปไม่ใช่น้อย นี่จะเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตนรึเปล่าก็ไม่รู้ เพราะใครๆ ก็บอกว่าปลูกยางพาราไม่ต้องลงทุนมาก การบริหารจัดการก็ง่ายกว่าปลูกพืชอย่างอื่น ปลูกทิ้งปลูกขว้างก็ยังได้กรีดกันนักต่อนัก แต่นี่ตั้งแต่เริ่มปลูกมาถึงตอนนี้เริ่มจะมีต้นทุนบานปลายขึ้นเรื่อยๆ
แต่ก็เอาน่า .... สักวันมันจะตอบแทนคืนให้เราอย่างคุ้มค่าอย่างแน่นอน (ปลอบใจตัวเองไปก่อน :-p )

ในที่สุดก็ได้ลงมือปลูกยางพารา

22 กรกฎาคม 2554
ได้ฤกษ์ลงกล้ายางพาราซะที

หลังจากที่รอแล้วรออีก ว่าทาง สกย. จะแจกกล้ายางพันธุ์ดีให้พวกเรามาปลูก แต่ก็เจอโรคเลื่อนครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งในที่สุดทาง สกย. ยกเลิกการแจกกล้ายาง เนื่องจากราคากล้ายางแพงขึ้นหลายเท่าตัว โดยทาง สกย. ตั้งราคากล้ายางที่จะซื้อมาแจกไว้ที่กล้าละ 18 บาท แต่ราคาขายตามท้องตลาด ณ ปัจจุบันเขาขายกันที่กล้าละ 50 - 60 บาท ดังนั้นจึงไม่มีใครเสนอขายกล้ายางให้กับทาง สกย. เลยแม้แต่รายเดียว (เป็นผมก็คงไม่ขายให้)
ทาง สกย. จึงเปลี่ยนแผนใหม่ให้พวกเราไปหาซื้อกล้ายางพารากันเอง แล้วทาง สกย. จะช่วยค่ากล้ายางพารา กล้าละ 18 บาท โดยที่เราต้องรับภาระราคากล้ายางส่วนที่เหลือเอง โดยคำณวนให้ในอัตรา 76 ต้นต่อไร่ (ปลูกระยะห่าง 3x7 เมตร) ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้สนใจปลูกยางพาราหลายรายที่มาเข้าร่วมโครงการรุ่นเดียวกันกับผม ตัดสินใจยังไม่ปลูกยางในปีนี้ เพื่อรอดูราคากล้ายางในปีหน้าอีกครั้งหนึ่ง



แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผมเองซึ่งได้ลงทุนปรับพื้นที่เตรียมไว้ก่อนแล้ว และไม่อยากเสียเวลารออีกปีหรือสองปีซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการเปิดกรีดช้าเข้าไปอีก จึงตัดใจหาซื้อกล้ายางพารามาปลูกในปีนี้ทันที
ผมได้ตระเวนดูกล้ายางจากหลายๆที่ ทั้งในเชียงใหม่ เชียงราย แต่ในที่สุดก็ได้กล้ายางพาราที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งคิดว่าคุณภาพกับราคาไปกันได้และผมรับได้



ผมได้กล้ายางหนึ่งฉัตร พันธุ์ RRIM600 มาในราคากล้าละ 55 บาท ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ทางสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางแนะนำสำหรับพื้นที่ปลูกยางใหม่ในภาคเหนือ ซึ่งเหมาะกับการปลูกในพื้นที่ค่อนข้างแล้ง (แต่เท่าที่สังเกตุกล้าต้นยางพาราที่ได้มา น่าจะมีพันธุ์ RRIT251 ปนมาบ้างหลายต้นเหมือนกัน)



ขุดหลุมขนาด 50x50x50 ซม. (กว้าง ยาว ลึก) แล้วรองพื้นด้วยหินฟอสเฟต ผสมกับขี้วัว และฟูราดารกันปลวกและแมลง โชคดีที่บริเวณใกล้ๆกับสวนยางพาราของผม ชาวบ้านแถวนี้ทำฟาร์มโคนมกันหลายราย จึงมีขี้วัวใส่กระสอบขายกันเยอะมากทีเดียวและราคาก็ไม่แพงด้วย แถวดอยหล่อขายกันอยู่ที่กระสอบละ 50 บาทและมีขายทั้งปี



เสร็จแล้วก็ลงมือปลูกยางพารากันเลย
จริงๆแล้วสำหรับดินทรายแถวๆนี้ ส่วนตัวผมเองคิดว่าขุดหลุม 50x50 ค่อนข้างที่จะกว้างเกินไป เพิ่งมารู้ตัวก็ตอนปลูกแล้วต้องกลบหลุมนี่แหล่ะ เหนื่อยมาก ซึ่งตอนขุดได้จ้างชาวบ้านแถวนี้ขุดหลุมให้ แต่เนื่องจากชาวบ้านแถวนี้ไม่เคยปลูกยางมาก่อน จึงไม่กล้าจ้างเขาปลูกเพราะกลัวจะมือหนักทำดินถุงชำแตก ทำให้กล้ายางเสียหาย (กล้ายางแพงด้วยปีนี้) เลยต้องลงมือปลูกเองกับคนในครอบครัวสองสามคน ตอนจ้างเขาขุดหลุมอยากได้กว้างๆ เพราะกลัวจะไม่ถึง 50x50 ซม. ตามที่ได้ไปอบรมมา แต่พอถึงเวลาปลูกและกลบหลุมถึงได้รู้ว่า มันกว้างเกินไปมั้ย ซึ่งหากเป็นดินเหนียวหรือดินลูกรังที่แข็งๆ การขุดหลุมกว้างๆ น่าจะช่วยในการแตกรากของต้นยางได้ดี แต่แถวนี้เป็นทรายอยู่แล้วจึงคิดว่าเรื่องแตกรากคงไม่น่าจะยากเย็นอะไรนัก จะกลัวก็แต่สารอาหารในดินมีน้อยเท่านั้นเอง


หลังจากก้มๆ เงยๆ อยู่กับหลุมปลูกยาพารามาหลายวัน ในที่สุดก็ปลูกครบทั้งหมดซะที เล่นเอาปวดขาปวดหลังกันไปหลายวันเลยทีเดียว



ตอน วางแนวปลูกเราได้ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกที่ทางใต้เรียกไม้ชะมบ ปักเป็นแนวสำหรับขุดหลุมเอาไว้ เมื่อปลูกเสร็จก็เอาไม้อันนี้แหล่ะปักเป็นไม้หลักและผูกต้นกล้ายางพาราไว้ สำหรับช่วยพยุงลำต้นยางพารา ไม่ให้ล้มและตั้งตรง



และแล้วยอดฉัตรใหม่ก็งอกขึ้นมา




โตวันโตคืนนะต้นยางจ๋า :-)


ไถพรวน ดึงเชือกวางแนว ขุดหลุมปลูกยางพารา

7 กรกฎาคม 2554
อบรมการทำสวนยาง กับ สกย.

หลังจากไปลงชื่อรับการช่วยเหลือและการฝึกอบรมจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย. ไปตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2554 ในที่สุดทาง สกย. ก็ได้แจ้งให้ไปรับการอบรมฝึกปฏิบัติที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งทางกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จะให้การช่วยเหลือด้านข้อมูล แนะนำ และช่วยเหลือด้านพันธุ์ยาง และปุ๋ยสำหรับใส่สวนยางเป็นเวลาสามปี โดยให้เกษตรกรผู้ทำสวนยางรายใหม่ที่ไม่เคยมีสวนยางมาก่อนสามารถขอรับการส่งเสริมช่วยเหลือได้ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย






เตรียมพื้นที่สวนปลูกยางพารา

ตัดสินใจปลูกยางพาราในเขตพื้นที่ใหม่

ปีที่ผ่านมายางพาราราคาสูง ประกอบกับทางรัฐได้ส่งเสริมให้มีการทำสวนยางในพื้นที่ปลูกยางใหม่ ทั้งทางภาคอีสาน และทางภาคเหนือ ซึ่งปัจจุบันสามารถส่งออกยางพาราไปยังประเทศมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจอย่างประเทศจีน ได้โดยใช้เส้นทางจังหวัดเชียงราย ทั้งทางแม่น้ำโขง และทางถนนสายใหม่เส้น R3A ที่ตัดผ่านอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ทำให้ยางพาราในเขตภาคเหนือได้รับความนิยมขยายพื้นที่ปลูกกันอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

บังเอิญที่บ้านนอกมีที่ดินว่างที่ไม่ได้ทำประโยชน์อยู่ และราคาที่ดินแถวนั้นไม่แพงมาก จึงได้ตัดสินใจร่วมโครงการกับ สกย. เอาที่ดินที่มีอยู่แล้ว และซื้อที่ดินใกล้เคียงเพิ่มอีกนิดหน่อย ปรับพื้นที่เพื่อปลูกยางพารา เผื่ออนาคตอีก 5-6 ปีอาจจะได้เป็นเศรษฐีสวนยางกับเขาบ้าง 555 !

เริ่มต้นครั้งแรกกับพื้นที่ในเขตอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 15 ไร่ (ดอยหล่ออยู่ระหว่างอำเภอสันป่าตอง ก่อนถึงอำเภอจอมทอง ไม่ใช่ดอยเต่านะครับ ^ ^' )

ทาง สกย. จะให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูล การอบรมฝึกปฏิบัติ และช่วยสมทบค่ากล้ายางพารา และปุ๋ยยางพารา เป็นเวลา 3 ปี แต่ไม่เกิน 15 ไร่ /ราย

จริงๆแล้วพื้นที่บริเวณนี้เป็นเขตอับฝน คนแถวนี้จะปลูกลำไย และทำฟาร์มโคนมกันเป็นส่วนมาก ห่างออกไปสี่ห้ากิโลเมตรเห็นมีคนปลูกยางพาราอยู่แล้วสองสามแปลง แต่แถวๆที่ผมปลูกนี้คิดว่าคงเป็นรุ่นบุกเบิกก็ว่าได้ เหมือนเป็นหนูลองยา จะดีจะร้ายยังไม่รู้แน่ชัดนัก คงต้องลุ้นติดตามผลอีกนานหลายปีอยู่เหมือนกัน พื้นที่ 15 ไร่อาจจะไม่มากมายอะไรนัก แต่เผื่อดีเผื่อร้ายเกิดดินไม่เหมาะสม อากาศไม่เป็นใจ ปลูกยางพาราไม่ได้ผลยังไงอย่างน้อยก็เจ็บตัวลงทุนไปไม่มาก แต่ถ้ายางพาราสามารถทนดิน ทนแล้งแถวนี้ได้ผลดี ก็คิดว่าน่าจะพอสำหรับเก็บผลผลิตน้ำยางพาราไว้เป็นรายได้เสริมในอนาคต

4 มิถุนายน 2554
แผ้วถางตัดต้นไม้ และปรับพื้นที่
เริ่มต้นด้วยการตัดต้นไม้ และไถปรับพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นมะม่วงและต้นไม้ป่าอยู่บ้างประปราย







สภาพดินที่นี่เป็นดินทราย ค่อนข้างแห้งแล้ง ที่ดินแถบนี้เป็นเขตอับฝนของเชียงใหม่
ปริมาณน้ำฝนต่อปีน้อยมาก ตอนปรับที่เตรียมปลูกยางพารา ตอนนั้นเป็นฤดูฝน แต่ก็ไม่ค่อยมีฝนตกที่นี่สักเท่าไหร่ บางวันเมฆฝนมืดครึ้มอยู่บนหัว ดูเหมือนฝนจะตก แต่สักพักก็มีลมพัดมาแรงๆ พัดเอาก้อนเมฆไปตกแถวสันป่าตองเสียหมด แถวนี้ไม่ตกสักเม็ดเป็นอย่างนี้อยู่บ่อยๆ แต่ก็ยังดีที่บริเวณนี้มีการเจาะน้ำบาดาลไว้แล้วบ้าง ซึ่งคิดว่าพอเพียงสำหรับระบบน้ำให้กับสวนยางพาราได้