เมื่อยางพารา ใบเหลืองหงิกงอ

เจอปัญหาเข้าให้แล้ว ยางพาราอายุ 1ปีที่ปลูกไว้พบบางต้นมีลักษณะแปลกๆ เช่น เริ่มมีลำต้นที่บิดงอ บางต้นแตกกิ่งเป็นพุ่มเหมือนยอดหัก แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ บางต้นใบเป็นสีเหลืองทั้งต้น และบางต้นก็ใบหงิกงอและใบร่วงอีกด้วย
ดูจากใยสีขาวๆ ที่ลำต้นน่าจะเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง แต่ยางพาราบางต้นที่ใบเหลือง ใบร่วง ก็ไม่ได้มีราสีขาวแบบนี้ จึงไม่แน่ใจว่าสาเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ ต้นยางพาราบางต้นที่เพิ่งปลูกซ่อมไปก็เริ่มมีอาการแบบนี้เหมือนกัน
หาข้อมูลจากในเน็ตคิดว่าน่าจะเป็นเพราะเชื้อรา มีข้อมูลให้ใช้ Mancozeb 80% เดี๋ยวจะไปซื้อมาลองพ่นดูก่อน
แล้วเจ้ากิ่งพุ่มแบบนี้ล่ะ ควรตัดแต่งอย่างไร หรือควรทำอะไรกับมันดี .. เห้อ !....

สวนยางพารา 1 ปีผ่านไปไวเหมือนกันนะเนี่ย !

สวนยางพารา 1 ปีผ่านไปไวเหมือนกันนะเนี่ย !

เข้าสู่ฤดูฝนอีกครั้ง ปีนี้ฝนตกน้อยกว่าที่คาดหวังไว้แต่ก็ยังดีที่ได้น้ำหยดช่วยชีวิต หน้าแล้งที่ผ่านมาที่สวนแล้งมากจนต้นไม้ต้นหญ้าแห้งตายกันหมด พืชผักที่ปลูกไว้ริมรั้วเหลือรอดมาถึงหน้าฝนเพียงไม่กี่ต้น แม้แต่ต้นไผ่ที่ตั้งใจปลูกไว้เป็นแนวกันลมก็ยืนต้นตายไปแทบไม่เหลือ



เขตอับฝน  เพิ่งรู้ว่ามันเป็นอย่างนี้นี่เอง เดือนมิถุนายน กรกฎาคม บริเวณใกล้เคียงอย่างจอมทอง สันป่าตอง หางดง ต่างก็มีฝนตกแทบทุกวันเหมือนฟ้ารั่ว แต่สำหรับที่นี่แม้จะมีเมฆฝนก่อตัวอยู่แทบทุกวัน แต่ก็ได้แต่มองก้อนเมฆสีดำเหล่านั้นค่อยๆถูกลมพัดไปตกที่อื่นทุกครั้งไป มีบ้างบางวันที่มีละอองฝนปรอยๆ ตกลงมาบ้าง คล้ายๆกับพ่นสเปรย์ฉีดน้ำลงมาแต่ไม่พอทำให้พื้นดินได้ชุ่มน้ำเลย

ช่วงนี้ข่าวพายุเข้าที่เวียดนามบ้าง เข้าลาวและพม่าบ้าง พยากรณ์อากาศก็ประกาศเตือนพายุฝนกระหน่ำภาคเหนือบ้าง ฝนตกหนักที่เชียงใหม่บ้าง แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าฝนจะตกหนักที่ดอยหล่อซะที

ตอนนี้เข้าสู่เดือนสิงหาคม เริ่มมีฝนตกลงมาบ้างแล้ว แต่ก็เริ่มพบปัญหาอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ นับวันยิ่งรู้สึกว่าต้นยางพาราเริ่มสูงชะลูดเกินไปรึเปล่านะ ต้นยางพาราหลายๆต้นในสวน เริ่มสูงเกินสามเมตรและลำต้นส่วนที่เป็นสีน้ำตาลเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนมากจะสูงกว่าระดับศรีษะแล้วด้วย แต่ต้นยางพาราหลายๆต้น กลับยังไม่แตกกิ่งสร้างทรงพุ่ม ได้โทรปรึกษากับทาง สกย. ได้คำตอบว่าไม่ต้องกังวลเดี๋ยวเข้าปีที่สองปีที่สามก็จะแตกกิ่งเอง  แต่ยายผมบอกว่า รอไปอีกปีสองปีมันไม่แตกกิ่งอยู่บนปลายฟ้าโน่นเลยเหรอ !
...555 จริงๆ ในใจผมก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน.

มีนาคม 2555 ยางพาราอายุ 8 เดือน

ในที่สุดก็ผ่านเข้ามาสู่หน้าแล้งจริงๆ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม พื้นที่บริเวณนี้ถือว่าร้อนและแห้งแล้งเอาการทีเดียว โชคดีที่มีระบบน้ำไว้รองรับอยู่บ้าง แม้อย่างนั้นก็มีต้นยางพาราบางต้นก็ทนร้อนทนแล้งไม่ไหวแห้งตายไปหลายต้นเหมือนกัน ประมาณ 2% เห็นจะได้ (ยางทั้งหมดพันกว่าต้นแห้งตายประมาณ 20 กว่าต้น) แต่ก็ถือว่าเปอร์เซ็นรอดสูงมาก และต้นยางพาราสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีในพื้นที่บริเวณนี้


ปักไม้ค้ำยันและมัดพยุงลำต้น เพราะหน้าแล้งแถวนี้ลมแรงมากทีเดียว


ในที่สุดก็สูงท่วมหัวจริงๆซะที [^_^]

ยางพาราอายุ 6 เดือน

ขนาดต้นยางสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงห้าหกเดือน อาจเป็นเพราะรากได้แตกกระจายหาอาหารได้ดีขึ้น และได้รับปุ๋ยเม็ดและปุ๋ยมูลสัตว์(ขี้วัว) ไปช่วยแตกยอดฉัตรใหม่



จากการสังเกตุพบว่าต้นยางจะแตกยอดเสมอหากได้รับน้ำแม้ในช่วงหน้าแล้งที่ไม่มีฝนตก แต่ถ้าเราให้น้ำอยู่ตลอดต้นยางพาราของเราก็ยังคงไม่หยุดแตกยอดฉัตรต่อไปเรื่อยๆ


ยางพาราอายุ 5 เดือน

หลังจาก 5 เดือนผ่านไปต้นยางพาราหลายต้นเริ่มสูงท่วมหัวแล้ว


เดือนธันวาคม 2554 ตอนนี้อากาศค่อนข้างหนาวเย็น และเริ่มมองเห็นความแห้งแล้งกำลังเริ่มต้น
หลังจากได้เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายบ่าของ HONDA 4 จังหวะมาแล้วก็จัดแจงตัดแต่งหญ้าทั่วทั้งสวนยาง โดยเฉพาะบริเวณรอบๆรั้ว เพื่อป้องกันไฟใหม้ลามเข้ามาในสวนยางพาราของเรา และใช้ฟางข้าวคลุมรอบลำต้นเพื่อรักษาความชื้น

วางระบบน้ำหยดในสวนยางพารา

เชียงใหม่เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการปลูกลำไยกันมาก และระบบการให้น้ำสวนลำใยของที่นี่มักจะเป็นการวางท่อ PVC เดินไปตามช่องว่างระหว่างแถวแล้วทำท่อแยกออกมาใส่ต้นลำใยเป็นต้นๆไป ซึ่งท่อพีวีซีมีราคาสูงมาก หากเทียบกับท่อพีอี และแถวยางพาราช่วงห่างระหว่างต้นจะถี่กว่าต้นลำใย จึงมีจำนวนต้นที่มากกว่าในพื้นที่ขนาดเท่ากัน ดังนั้นหากจะวางท่อพีวีซีทั้งสวนคงสิ้นเปลืองมากแน่นอน ระบบน้ำหยดจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ประหยัดกว่า ทั้งประหยัดน้ำและประหยัดเงิน



เริ่มต้นวางท่อเมนพีวีซี 2 นิ้วไปตรงกลางสวนแล้วใส่ข้อต่อสามทาง 2 นิ้วทดหกหุน เพื่อต่อกับข้อต่อท่อพีอีสำหรับน้ำหยด



ลากสายน้ำหยดไปตามแถวยางทุกแถว เสียบปลายด้านหนึ่งกับข้อต่อที่ต่อกับท่อพีวีซี และมัดปลายสุดท้ายอีกด้านหนึ่งด้วยลวดกันสนิมและมัดปลายติดกับหลักไว้ จากนั้นจึงใช้ที่เจาะท่อพีอี เจาะสายน้ำหยดเพื่อใส่หัวน้ำหยดทุกต้น




ท่อพีอีที่ใช้ครึ่งหนึ่งเป็นแถบสีส้ม อีกครึ่งสีเขียวราคาเท่ากันเลยไม่รู้ว่าอันใหนทนกว่า ปีนี้ของขาดเยอะมากเพราะตอนใส่น้ำหยดทางภาคกลางและกรุงเทพน้ำท่วมใหญ่พอดี ไม่มีของส่งมาทางเหนือ (ราคาขึ้นทุกอย่างอีกตะหาก)


พร้อมรบกับฤดูแล้งแล้วครับ อิ_อิ

เตรียมรับมือหน้าแล้ง ทำแทงก์เก็บน้ำใส่สวนยาง

อีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าหน้าหนาว และก็เข้าสู่หน้าแล้งในที่สุด
เนื่องจากเจอโรครอ โรคเลื่อนมาจนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งถือว่าปลูกยางพาราค่อนข้างช้า เกือบหมดหน้าฝนกันเลยทีเดียว และเนื่องจากบริเวณแถวนี้เป็นเขตอับฝน เป็นเขตแห้งแล้งของจังหวัดเชียงใหม่เลยก็ว่าได้ ดังนั้นเพื่อไม่เป็นการประมาทจนเกินไปจึงได้จ้างช่างมาทำแทงก์เก็บน้ำบาดาลที่สูบขึ้นมาเก็บไว้สำหรับใส่ให้กับต้นยางพาราในสวนของเราในหน้าแล้ง



เริ่มทำฐานราก ที่แถวนี้เป็นดินทรายจึงต้องทำฐานรากให้หนาแน่นและลึกสักหน่อย เพื่อให้รับน้ำหนึกของน้ำจำนวนมาก ไม่ให้ล้มพังลงมา


ใช้ท่อกลมสำเร็จรูปจำนวน 10 ท่อนก่อเป็นแทงก์น้ำ


เสร็จแล้ววางท่อน้ำต่างๆให้เรียบร้อย และปั๊มน้ำขึ้นจนเต็ม
ปรากฏว่าน้ำรั่วออกมาตามรอยต่อของท่อเป็นจำนวนมาก ไหลเหมือนน้ำตกขนาดย่อมๆ เลยทีเดียว
แต่ช่างบอกว่าเป็นธรรมดา ต้องใส่น้ำแช่ไว้สักสองสามอาทิตย์ แล้วขี้ปูนจะเข้าไปอุดรอยรั่วเอง
ผ่านไปสองอาทิตย์รอยรั่วบางรอยหายไปบ้าง แต่จนแล้วจนรอดผ่านไปเกือบเดือนน้ำก็ยังคงรั่วออกมาในบางข้ออยู่ดี ช่างจึงทำการอุดรอยรั่วอีกครั้งด้วยอะไรก็ไม่รู้เป็นกาวสีขาวๆ คิดว่าน่าเป็นซิลิโคนรึเปล่า
รอยรั่วต่างๆเริ่มมีตะกอนสีขาวๆซึมออกมาซึ่งช่างบอกว่ามันจะช่วยอุดรอยรั่วนั่นเอง