ปุ๋ยและการดูแลรักษายางพารา

การใส่ปุ๋ยและการดูแลรักษาต้นยางพารา

การให้ปุ๋ยก่อนเปิดกรีด
  • ให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-8-20 สำหรับยางพาราในแหล่งปลูกยางเดิมในภาคใต้และภาคตะวันออก และใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-12 สำหรับยางพาราในแหล่งปลูกยางใหม่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยมูลสัตว์ในอัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น
  • ให้ทำการกำจัดวัชพืชก่อนใส่ปุ๋ยทุกครั้ง เพื่อไม่ให้วัชพืชแย่งธาตุอาหารจากปุ๋ย
  • หากเป็นพื้นที่ลาดเท น้ำไหลผ่านควรใส่ปุ๋ยโดยวิธีการขุดหลุมฝัง
  • ไม่ควรใส่ปุ๋ยในฤดูแล้งหรือมีฝนตกชุกติดต่อกันหลายวันเพราะจะทำให้ต้นยางช็อกปุ๋ย หรือรากเน่าได้
การให้ปุ๋ยหลังเปิดกรีด
  • ควรใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ของดิน สำหรับคำแนะนำทั่วไป คือ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 30-5-18 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝน และปลายฤดูฝน
  • ใส่ปุ๋ยโดยวิธีหว่านหรือโรยเป็นแถบบริเวณระหว่างแถวแล้วกลบ

การปลูกยางพารา

ขั้นตอนการปลูกยางพารา

 การวางแนว ควรวางแนวแถวยางพาราให้ขวางทางน้ำไหลเพื่อไม่ให้น้ำฝนชะล้างหน้าดิน เกิดการชะล้างเอาปุ๋ยไปจากแถวยางพารา และทำให้สะดวกในการเดินกรีดยางและเก็บน้ำยางอีกด้วย

ใช้ไม้ชะมบปักเป็นแนวและจุดที่จะขุดหลุมปลูกยางพารา โดยให้มีระยะห่างที่เหมาะสม ในพื้นที่ปลูกยางใหม่เขตภาคเหนือและภาคอีสาน ควรเว้นระยะห่างระหว่างแถวอย่างน้อย 7 เมตร และระยะห่างระหว่างต้นอย่างน้อย 3 เมตร (3x7) ซึ่งทำให้มีปริมาณต้นยางประมาณ 76 ต้นต่อไร่

การวางแนวควรทำให้ได้องศา เรียงกันอย่างสวยงาม เพื่อสะดวกต่อการจัดการดูแลและกรีดยางในอนาคต
หากเป็นพื้นที่ลาดชันควรทำเป็นพื้นที่ปลูกแบบขั้นบันได

ขุดหลุมเตรียมปลูกยางพารา
ขุดหลุมให้มีขนาด กว้างคูณยาวคูณลึก 50x50x50 เซนติเมตร แยกดินส่วนบนกับดินส่วนล่างเอาไว้
ให้ดินที่ขุดขึ้นมาและหลุมที่ขุดได้ผึ่งแดดประมาณหนึ่งอาทิตย์ แล้วจึงนำดินที่แยกไว้เอาดินด้านบนใส่ก้นหลุมแล้วเอาดินด้านล่างผสมกับปุ๋ยมูลสัตว์และหินฟอสเฟสใส่ด้านบน

กรีดถุงชำยางพาราให้ขาดออก ตัดปลายถุงและดินด้านล่างออกประมาณ 1-2 เซ็นติเมตรเพื่อตัดรากฝอยที่ขดงออยู่ก้นถุงออก ระวังอย่าให้ดินในถุงชำแตก

วางกล้ายางทั้งถุงชำลงไปในหลุมปลูก กลบดินให้พอแน่นแล้วจึงดึงถุงชำออก กลบดินให้เต็มหลุมพูนขึ้นมานึดหน่อยป้องกันน้ำขัง

มัดต้นยางกับไม้ชะมบเพื่อกันลม และให้ต้นตั้งตรง

การปลูกด้วยยางชำถุงให้เปอร์เซ็นต์การรอดสูง และสะดวกกว่าวิธีอื่น ควรปลูกยางพาราในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อให้ต้นยางได้รับน้ำฝนในปริมาณที่เพียงพอ ก่อนเข้าสู่หน้าแล้ง

การเตรียมพื้นที่ปลูกยาง

การเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกยาง

ต้องทำการปรับพื้นที่สำหรับปลูกยางพารา โดยทำการตัดโค่นต้นไม้ในบริเวณพื้นที่และไถพรวนเอารากไม้และเศษไม้ออกให้หมด เว้นแต่เป็นการปลูกแซมสวนต้นไม้ผลไม้เดิมที่ต้องทำการไถพรวนปรับพื้นที่เฉพาะบริเวณช่องว่างระหว่างต้นไม้เดิม

เก็บเศษไม้ ตอไม้ และวัชพืชต่างๆออกให้หมด หากเป็นพื้นที่ราบควรปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน เพื่อความสะดวกในการเข้าดูแลสวนยาง และการกรีดยางเก็บน้ำยางพาราในอนาคต

หากมีงบประมาณ ควรล้อมรั้วทำแนวเขตแดน ปลูกต้นไม้ทำแนวกันลม เช่นต้นไผ่ หรือต้นกฐินยักษ์ หรือไม้โตเร็วไว้รอบแนวเขต

สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มต้นทำสวนยาง

สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มต้นทำสวนยาง

- ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมสูง และมีความต้องการของตลาดมากอย่างต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ดี ราคาของผลผลิตยางพารา มีปัจจัยแปรผันที่หลากหลาย มีความไม่แน่นอนของราคาตลาดค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของฝ่ายผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ความต้องการของตลาดผู้บริโภค ปัจจัยด้านสภาพดินฟ้าอากาศที่ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของยางพาราเอง และแม้แต่ปัจจัยด้านการเมืองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับราคายางพาราได้ทั้งสิ้น

- ยางพารา เป็นพืชที่ผลผลิตไม่สามารถกินได้ มีคนพูดว่าปลูกลำไยปลูกผัก เวลาขายไม่ออกราคาไม่ดีก็ยังเอามากินได้ แต่ปลูกยางพาราถ้าราคาตกต่ำขายไม่ได้จะเอาไปทำอะไรกัน

- ยางพารา เป็นพืชที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่เหมือนการปลูกพืชชนิดอื่นๆ บางคนบอกว่าปลูกยางพารานั้นแค่ปลูกทิ้งไว้ให้เทวดาเลี้ยงก็สามารถได้กรีดเก็บผลผลิตได้เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากยางพารามีต้นทุนกล้าพันธุ์ที่ค่อนข้างสูง เมื่อตัดสินใจปลูกแล้วก็ควรให้ความเอาใจใส่ ดูแลรักษา ใส่ปุ๋ยรดน้ำกันตามสมควร ไม่อย่างนั้นอาจจะเหลือต้นยางที่เทวดาช่วยเลี้ยงแค่ไม่กี่ต้น หรืออาจจะไม่เหลือสักต้นก็เป็นได้

- การปลูกยางพารา ต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่ ลักษณะดิน และสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ควรที่จะเลือกพันธุ์ยางที่เหมาะสมกับภูมิภาคของเรา และจัดการตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยางอย่างเคร่งครัด

การให้การดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่เริ่มต้น ปฏิบัติต่อต้นยางอย่างดี ย่อมส่งผลดีต่อต้นยางและน้ำยางในอนาคต ให้ต้นยางพาราได้ตอบแทนความเอาใจใส่ และให้ผลผลิตตอบแทนเป็นเงินให้กับเราอย่างดีเช่นกัน

ประเภทและพันธุ์ยางพารา

ประเภทและพันธุ์ยางพารา

ในประเทศไทยสถาบันวิจัยยาง ได้แบ่งประเภทของยางพาราออกเป็น 3 ประเภทคือ
1. พันธุ์ยางพาราเพื่อผลิตน้ำยาง
2. พันธุ์ยางพาราเพื่อผลิตน้ำยางและเนื้อไม้
3. พันธุ์ยางพาราเพื่อผลิตเนื้อไม้

ซึ่งแต่ละประเภทก็เหมาะสมกับพื้นที่และความต้องการของผู้ปลูกยางพาราแตกต่างกันไป

กลุ่มที่ 1. เป็นพันธุ์ยางพาราที่ให้น้ำยางสูงมาก เน้นสำหรับผลิตน้ำยางพารา เช่น พันธุ์ สถาบันวิจัยยาง 251  พันธุ์RRIM 600 พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 226  และ พันธุ์BPM 24 เป็นต้น

กลุ่มที่ 2. เป็นพันธุ์ยางที่ให้น้ำยางสูงและให้เนื้อไม้ในระดับดี  เช่น พันธุ์PB 235, PB 255 และ PB 260

กลุ่มที่ 3. เป็นพันธุ์ยางที่ให้เนื้อไม้สูงแต่น้ำยางอาจไม่ดีมาก เช่น พันธุ์ฉะเชิงเทรา 50, AVROS 2037 และ BPM 1

การจะเลือกใช้พันธุ์ยางชนิดใหนก็ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่สภาพแวดล้อม และความทนทานต่อสภาพอากาศ ความทนทานต่อโรค ซึ่งต้องพิจจารณาแตกต่างกันตามพื้นที่ที่จะปลูกยางพาราของเราเอง

แหล่งกำเนิดและที่มาของยางพารา

ยางพารา พืชเศรษฐกิจสำคัญอันดับต้นๆของประเทศไทย และเป็นแหล่งกำเนิดน้ำยางที่เป็นที่ต้องการเพื่อการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย
ยางพาราในปัจจุบันนิยมปลูกกันแพร่หลาย มีการทำสวนยางทั้งในภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของประเทศไทย นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางได้อย่างดียิ่ง
ยางพารา เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดจากบริเวณลุ่มน้ำอเมซอนประเทศบราซิล และเปรู ในทวีปอเมริกาใต้
ยางพารา ถูกนำมาใช้ประโยชน์เริ่มแรกจากการที่ โจเซฟ พริสลี่ ได้ค้นพบว่า ยางที่ได้จากต้นไม้ชนิดนี้สามารถนำมาลบรอยดำ รอยขีดเขียนของดินสอได้ เมื่อปี พ.ศ. 2313 จนกระทั่งถูกเรียกขานกันในชื่อว่า Rubber ซึ่งก็คือ ยางลบ หรือตัวลบนั่นเอง ต่อมายางได้มีการผลิตและซื้อขายกันอย่างกว้างขวางในอเมริกาใต้ และมีศูนย์กลางของการซื้อขายอยู่ที่เมืองท่าแห่งหนึ่งที่ชื่อ พารา (Para) ดังนั้นจึงนิยมเรียกยางที่ซื้อขายกันที่เมืองท่าแห่งนี้ว่า ยางพารา  นั่นเอง

สำหรับประเทศไทย

ยางพารา ถูกนำเข้ามาปลูกครั้งแรกเมื่อใดไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะถูกทำเข้ามาปลูกครั้งแรกโดย พระยารัษฏานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้) ณ ระนอง เจ้าเมืองตรัง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2442-2444  และได้กระจายการทำสวนยางไปทั่วทั้งภาคใต้ และแพร่หลายไปยังภาคตะวันออก และภาคอื่นๆ จนกระทั่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก